เว็บไซต์เก่า
ตรา พระราชลัญจกร

ประเภทของพระราชลัญจกร พระราชลัญจกร คือ ตราประจำชาติ ซึ่งใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญของพระมหากษัตริย์ และราชการแผ่นดิน จัดเป็นหมวดหมู่ได้ 3 ประเภท ดังนี้

พระราชลัญจกรประจำ พระองค์
พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน
พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน

หมายถึงพระตราที่ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่นในประกาศนียบัตรกำกับเหรียญรัตนาภรณ์ เป็นต้น พระราชลัญจกรประจำพระองค์แต่ละรัชกาลมีรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ กันไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1-4 เท่าที่มี หลักฐานปรากฎพบว่าในเงินพดด้วงมีรูปจักรดวงหนึ่ง และพระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1 เป็นรูปปทุมอุณาโลม รัชกาลที่ 2 เป็นรูปครุฑยุดนาค รัชกาลที่ 3 เป็นรูปปราสาท รัชกาลที่ 4 เป็นรูปพระมหามงกุฎ โดยที่รูปจักรจะไม่เปลี่ยนไปตามรัชกาลเนื่องจากเป็นพระราชสัญลักษณ์ สำหรับพระบรมราชวงศ์ซึ่งปกครองรัฐสีมามณฑลอยู่ นอกจากนั้นพบหลักฐานที่ปรากฎรูปพระราชสัญลักษณ์ ที่ใบปกคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในแต่ละรัชสมัยดังที่กล่าวมาแล้ว ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกระษาปณ์สิทธิการขึ้น เพื่อผลิตเงินเหรียญบาทแทนเงินพดด้วง ตราที่ใช้ในเงินเหรียญนั้น ด้านหนึ่งของเหรียญยังคงเป็นรูปจักร โดยเติมรูปช้างเผือกกลางรูปจักร อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระมหามงกุฎมีเครื่องสูงตั้งขนาบทั้งสองข้าง ต่อมาได้ทรงพระกรุณาให้สร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เพื่อประทับในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ที่ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตลอดมา เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็นอุหรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิตดังในรัชกาลก่อน

ที่มา : จากหนังสือพระราชลัญจกร

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัย เป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออก ในรอบเหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ และรอบนอกด้านบนมีตัวอักษรภาษาไทยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี” ด้านล่างมีอักษรภาษาอังกฤษว่า “RAMBHAI BARNI RAJABHAT UNIVERSITY” สีของสัญลักษณ์ประกอบด้วย 5 สี ดังนี้

น้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม “ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ”
สีเขียว แทนค่า แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในแหล่งธรรมชาติมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
สีส้ม แทนค่า ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นก้าวไกล
สีขาว แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ที่มาของรูปแบบตัวอักษรราชภัฏสัญลักษณ์

แสดงถึงพระ ราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน ในประเด็นการปรับแผนการศึกษา ของชาติที่เด่นชัด โดยพัฒนาจากระบบ บ้าน วัด วัง และโรงเรียน โดยเฉพาะเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงใช้กระบวนการทางปัญญาแก้ปัญหาระบบการพัฒนาประเทศ ตัวอักษรจึงเป็นประเด็นสำคัญในการจัดวางรูปแบบ ดังนั้น ตัวอักษรไทยในราชภัฏสัญลักษณ์ จึงมีโครงสร้างในลักษณะใกล้เคียงระบบสากล คือใช้อักษรโรมันแบบ Gothic หรือตัวอักษรอังกฤษแบบ Old English และอักษรขอม เป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบตัวอักษร ให้สามารถแทนค่าความรู้สึกในการสื่อสารร่วมสมัย และแสดงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์