เว็บไซต์เก่า
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร ลงพื้นที่เกาะกูด จังหวัดตราด จัดโครงการธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนธยา กูลกัลยา อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านในโครงการธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธนาคารปูม้ากับชาวบ้านในชุมชน พร้อมร่วมซักถามและถ่ายทอดข้อมูล เพื่อให้พื้นที่เกาะกูดเป็นแหล่งแม่ปูไข่นอกกระดองในธรรมชาติตลอดทั้งปี โดยใช้รูปแบบของกระชังที่ยึดไว้ในทะเล การทำโรงเรือนในหมู่บ้านชาวประมง การปล่อยแม่พันธุ์คืนสู่ทะเล หรือการเพาะพันธุ์ปูม้าจากจับปิ้ง ทั้งนี้จะมีชาวบ้านนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองที่ถูกจับขึ้นมา นำส่งที่บริเวณที่ทำการธนาคารปูม้า พร้อมทั้งมีการจดบันทึกสถิตืจำนวนแม่ปูม้าในแต่ละวันเพื่อเก็บสถิติ โดยอัตราการอยู่รอดค่อนข้างน่าพอใจที่ 50-80% ชาวบ้านที่นำปูม้ามาส่งจะไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน แต่สิ่งที่ได้คือแหล่งเพาะพันธุ์ปูม้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่สามารถจับได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องปิดอ่าวในช่วงฤดูวางไข่ และทำให้มีปูม้ามีน้ำหนักตัวมากกว่าพื้นที่อื่นๆและเป็นแหล่งอนุบาลปูม้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนอีกด้วย ึ่โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีและเครือข่ายภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย บริเวณบ้านอ่าวสลัด หมู่ 6 ตำบลเกาะกูด จังหวัดตราด
ประกาศเมื่อวันที่ : 22 กันยายน 2563
แหล่งข่าวจากหน่วยงาน : ฝ่ายประชาสัมพันธ์