มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มอบหมายภารกิจให้นักศึกษาจิตอาสาพัฒนาชุมชน ในนาม Gen A ของสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ลงพื้นที้ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย โดยภารกิจแรก เป็นปฏิบัติการศึกษาชุมชน วิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ และสร้างพลังความร่วมมือกับชุมชน โดยได้เลือกพื้นที่หมู่บ้านเขาส้มป่อย หมู่ 5 ต.แก่งหางแมว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ทั้งนี้ นักศึกษากลุ่มจิตอาสา Gen A ที่มีอาจารย์ชัชวาลย์ มากสินธ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการศึกษาชุมชน ในระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2562 โดยใช้เครื่องมือในงานพัฒนา อาทิ แผนที่เดินดิน ปฏิทินอาชีพ แบบสอบถาม และการฝังตัวในพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์พูดคุยเชิงลึกกับชาวบ้าน จากนั้น ดำเนินการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นข้อมูลสำคัญของชุมชน ได้แก่ ช่วงวัยของชาวบ้าน ระดับการศึกษา วิถีอาชีพ ภาวะหนี้สิน ระยะเวลาการเข้ามาอยู่ในชุมชน และที่สำคัญคือ ประเด็นปัญหาของหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นการเดินสำรวจวิถีชุมชน ให้เข้าถึงทุนชุมชน ทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินโครงการพัฒนาร่วมกัน เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน จัดให้มีเวทีคืนข้อมูลชุมชน และการชวนคิด ชวนคุย เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน ด้วยการกำหนดปัญหาให้ชัด แนวทางที่เป็นไปได้ และจัดตั้งแกนนำชุมชนสำหรับการขับเคลื่อนโครงการในระยะแรกเริ่ม กับชาวบ้านที่หัวไวใจสู้ ซึ่งเวทีดังกล่าว มีตัวแทนจาก อบต.แก่งหางแมว (รองนายก อบต.) ส.อบต. กรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านเข้าร่วมเวทีประมาณ 50 คน ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ระดับการศึกษาประถมศึกษา ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามา อาทิ มาจาก ระยอง และจังหวัดในภาคอีสาน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีภาวะหนี้สินกว่าร้อยละ 70 แต่ส่วนมากเป็นหนี้ในระบบ เรื่องรายได้ ค่อนข้างมีรายได้น้อย เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน ปัญหาชุมชนที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ เรื่องภัยแล้ง รองลงมาคือ เศรษฐกิจชุมชน ที่ไม่มีอาชีพเสริม สร้างรายได้ โดยจะพบว่า ชาวบ้านจะมีช่วงว่างงานจากการทำเกษตร หรือ รับจ้าง ประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ ในชุมชน ยังไม่มีการรวมกลุ่มอาชีพกันอย่างจริงจัง ในขณะที่ทุนด้านทรัพยากรของชุมชน มีสระน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 3 แห่ง มีป่าชุมชน ขนาดพื้นที่ 100 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ทราบว่ามีป่าชุมชน และไม่เคยเข้ามาใช้ประโยชน์ หรือ ร่วมกันอนุรักษ์ อีกทั้งบริเวณขอบสระน้ำใกล้ป่าชุมชน ซึ่งมีพื้นที่กว้าง ยังปล่อยให้รกร้าง ไม่ได้พัฒนาให้เกิดประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ ในเวทีชุมชน จึงได้มองเห็นศักยภาพของหมู่บ้านร่วมกัน เห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา แลพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจชุมชน รวมกลุ่มอาชีพ ส่วนเรื่องภัยแล้ง พบว่า จริงๆแล้ว ไม่ใช่ปัญหาที่มีความรุนแรง และส่งผลต่อชาวบ้านมากนัก เนื่องจาก ขุมชนมีสระน้ำเพื่อการเกษตร บรรเทาปัญหา อีกทั้งภัยแล้งหมู่บ้าน จะเผชิญปัญหาเพียง 4 เดือนเท่านั้น สระน้ำที่มีอยู่ 3 จุดทั่วหมู่บ้าน บรรเทาปัญหาได้ ที่ประชุมเวทีชาวบ้าน จึงเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ชุมชนมีสระน้ำ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สระหลวง” ซึ่งอยู่ในความดูแลของชาวบ้าน อยู่ใกล้ป่าชุมชน และถนนหนทางที่จะไปสระหลวง ก็สะดวกสบาย ขอบสระน้ำ มีพื้นที่กว้างโดยรอบ ปล่อยรกร้างไม่ได้เกิดประโยชน์ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จึงเสนอแนวคิด”ขอบสระกินได้ ขายได้ ตามรอยศาสตร์พระราชา” ให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มปลูกผักเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ ขอบสระน้ำ และในอนาคตสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวให้กับหมู่บ้านได้ รวมทั้งในขณะนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ชุมชนยังไม่มีวัตถุดิบ หรือ ทรัพยากร ที่จะแปรรูปสินค้าได้ หากทำ ก็จะต้องไปนำเข้าจากที่อื่น ก็ไม่เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ชาวบ้านจึงเข้าใจตรงกันว่า เราต้องสร้างวัตถุดิบ ให้เกิดขึ้นก่อนในระยะแรก โดยเริ่มจากการปลูกผัก และอาจจะนำต้นหม่อน มาปลูกในพื้นที่ด้วย เพื่อจะสามารถนำผลไปสร้างสินค้าชุมชนต่อไปในอนาคตได้
ทั้งนี้ เมื่อทิศทางชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กับ ชาวบ้าน จะจับมือก้าวไปด้วยกันในทิศทางใดแล้ว เพื่อให้เกิดระบบการขับเคลื่อนที่มาจากพลังชุมชน จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ ในระยะก่อตัว จำนวน 17 คน อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่บ้านเสนอว่า ขอให้ชุมชนได้ประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวไปยังชาวบ้านไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2562 คาดว่า จะมีคนเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น จากนั้น จะให้มีการประชุม และวางโครงสร้างกลุ่มกันต่อไป
นับได้ว่า การปฏิบัติการชุมชนเข้มแข็ง ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย อำเภอแก่งหางแมว ที่เลือกหมู่ 5 บ้านเขาส้มป่อย นั้น ประสบผลสำเร็จในระยะแรก ที่สามารถจุดประกายความคิด ให้กับชาวบ้าน และรวมพลังชุมชนที่จะร่วมกันพัฒนาในมิติเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน บนฐานของทรัพยากร และศักยภาพของชุมชน ซึ่งในระยะต่อไป มหาวิทยาลัยราขภัฏรำไพพรรณี จะมีการวางแผนและดำเนินโครงการให้เกิดความต่อเนื่อง ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกของมหาวิทยาลัยที่มี ร่วมกับ เครือข่ายต่างๆ ให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยต่อไป
ประกาศเมื่อวันที่ : 22 มีนาคม 2562
แหล่งข่าวจากหน่วยงาน : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์