เว็บไซต์เก่า
สำนักงานยุติธรรมจังหวัดจันทบุรี ได้เชิญอาจารย์ชัชวาลย์ มากสินธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยายและสร้างกิจกรรมเรียนรู้กับเยาวชน และผู้นำชุมชน ในเรื่องแนวทางการป้องกันปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรง โดยจัด 3 พื้นที่ 3 อำเภอคือ อำเภอสอยดาว ที่วิทยาลัยการอาชีพสอยดาว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561อำเภอเมือง ที่โรงเรียนเบจมานุสรณ์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 และพื้นที่อำเภอนายายอาม ที่วิทยาการอาชีพนายายอาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ ได้เน้นการบรรยายเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมนันทนาการสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม เพื่อแสดงออกทางความคิด สำหรับเนื้อหาการบรรยาย อาจารย์ชัชวาลย์ มากสินธ์ เสนอวิธีคิด 4จ. ให้กับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดจันทบุรี ในเวทีการบรรยาย เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และความรุนแรง ได้แก่ 1จ.จับตา หมายถึง การสังเกต สถานการณ์ในชุมชน และบุคคลใกล้ชิด 2.จ.เจรจา หมายถึง การพูดเตือน ห้าม ให้กำลังใจกัน 3.จ.จดจำ หมายถึง การจำเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4.จ.แจ้งบอก หมายถึง หากไม่สามารถจัดการปัญหาได้เอง ให้แจ้งบอกผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วงท้ายของการบรรยายในแต่ละเวที ได้ให้เยาวชนนำเสนอภาพวาดสะท้อนวิธีคิดในการป้องกันปัญหายาเสพติดใกล้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เยาวชนเสนอมุมมองว่า 1. การคบเพื่อน ควรเลือกคบเพื่อนที่ดี ส่วนเพือนที่ติดยาเสพติด ไม่แสดงการรังเกียจ แต่รู้จักคบอย่างวางตัวไม่ให้ตกอยู่ในการติดยาเสพติดตามเพือน 2. รักพ่อแม่ คิดถึงพ่อแม่ให้มาก เพื่อเตือนสติยับยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตนเอง 3. เลือกทำกิจกรรมอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์ แก่ตนเอง อาทิ กีฬา ดนตรี ฯลฯ 3. เตือนเพื่อน เมื่อมีโอกาส ไม่ต้องสนใจว่า เพื่อนจะเชื่อหรือไม่ แต่ขอให้ทำหน้าที่เพื่อนที่ดี 4. พบสิ่งที่ผิดปกติในชุมชน ให้แจ้งผู้นำชุมชน ไม่ควรเสี่ยงที่จะเข้าไปจัดการปัญหาเอง เพราะอาจเกิดอันตราย อ.ชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด เพียงแค่การมีความรู้ หรือ รับรู้ ไม่เพียงพอ เพราะเยาวชนปัจจุบัน เชื่อว่า ได้รับรู้โทษยาเสพติดมาพอสมควร แต่บางคนก็ยังเสพ นั่นแสดงว่า แค่รับรู้ ไม่ได้ ตระหนักรู้ ฉะนั้น จะต้องรู้แล้วเกิดความกลัว ที่จะไม่กล้าไปยุ่งกับยาเสพติด นอกจากนี้ เชื่อว่า เยาวชนทุกคน มีสำนึกดีอยู่ในตัวเองทุกคน เพียงแต่จะสามารถดึงสำนึกดีขึ้นมาใช้ได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่า เกราะป้องกันยาเสพติด ที่ดีที่สุดในตัวคน คือ จิตสำนึกที่ดี แม้ว่า อาจจะเคยพลาดพลั้ง แต่เมื่อเกิดจิตสำนึกที่ดี ก็สามารถทำให้คนเปลี่ยนแปลงตนเองได้ โดยรอยยิ้ม ควาทสุขของพ่อแม่ ในครอบครัว จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนเกิดจิตสำนึกได้ดีที่สุด
ประกาศเมื่อวันที่ : 15 มิถุนายน 2561
แหล่งข่าวจากหน่วยงาน : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์