เว็บไซต์เก่า
กลุ่มชาวค่ายอาสาพัฒนาชนบท “ทานตะวัน” ของสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีปรัชญาว่า “สละส่วนตน สร้างสรรค์ส่วนรวม” เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับนักศึกษาในการมี จิตอาสา สอดคล้องกับลักษณะคุณธรรมจริยธรรมของมหาวิทยาลัยที่ว่า “กตัญญู มีจิตสาธารณะ” นอกจากนี้ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนได้ตระหนักถึงการพัฒนาผู้เรียนในสายพัฒนาชุมชน ให้มีศักยภาพทั้งทางด้านวิชาการ วิชาชีพ และคุณธรรม เพื่อให้เป็นบัณฑิตที่เพียบพร้อม สามารถนำความรู้และประสบการณ์มารับใช้สังคมได้อย่างเต็มความสามารถ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องจัดกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา พัฒนาศักยภาพความเป็นนักพัฒนา และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามให้กับนักศึกษา เพื่อหล่อหลอมให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ อีกทั้งสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ว่า “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” การดำเนินงานของ ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ทานตะวันรุ่นที่ 6 ในปี 2559 มีแนวคิดของการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเด็กนักเรียนและชาวบ้าน โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา โดยโรงเรียนแห่งนี้ มีความสำคัญกับลูกชาวประมงยากจน ที่ไม่สามารถขึ้นมาเรียนบนฝั่งในตัวเมืองได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ใช้ชีวิตอยู่บนแพลุ่มน้ำแม่ปิง หากไม่มีโรงเรียนแห่งนี้ เด็กๆจะไม่ได้เรียนหนังสือ อีกทั้งผู้ปกครองมีค่านิยมที่ไม่เห็นความสำคัญกับการศึกษา ไม่ยอมส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือ แต่เมื่อมีการสร้างห้องเรียนเรือนแพขึ้น และให้มีครูไปประจำการอยู่ ก็สามารถช่วยเหลือให้เด็กๆลูกชาวประมงได้มาเรียนหนังสือจนถึงปัจจุบัน และจากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล และวิเคราะห์ปัญหาของโรงเรียน พบว่า ได้รับความช่วยเหลือด้านสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้จากหน่วยงานภายนอก แต่ยังขาดการพัฒนาในด้านโภชนาการ ซึ่งเด็กๆต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่โรงเรียน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มค่ายอาสาพัฒนาชนบท ทานตะวัน จึงมีแนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงเรือนแพเกษตรพอเพียงกลางน้ำ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม อีกทั้งจะเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 การดำเนินงานค่ายอาสาฯ จึงยึดหลักการตามสโลแกนคือ “เทิดด้วยทำ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม” ซึ่งกระบวนการทำงานของชาวค่ายอาสาพัฒนาชนบท ไม่ได้เพียงแต่การสร้างแพเกษตรพอเพียงเท่านั้น แต่จะมีการนำองค์ความรู้เรื่องการเพาะเห็ด การเลี้ยงไข่ และการปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไปถ่ายทอด สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนและชาวบ้านในชุมชน ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองได้ โดยได้ดำเนินโครงการแล้วเมื่อวันที่ 13-18 มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ อ.ลี้ จ.ลำพูน
ประกาศเมื่อวันที่ : 21 มิถุนายน 2559
แหล่งข่าวจากหน่วยงาน : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์