× กลับหน้าหลัก
× CLOSE

คณะ

หน่วยงาน

หน่วยงานอื่นๆ
Thai rbru Eng rbru

เกี่ยวกับรำไพฯ

ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 6 กิโลเมตร บริเวณสามแยกเขาไร่ยา ด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัยติดกับถนนรักศักดิ์ชมูล อีกด้านหนึ่งติดกับถนนสุขุมวิท มีเนื้อที่ 720 ไร่ 3 งาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ประกาศจัดตั้งครั้งแรกในฐานะ “วิทยาลัยครูจันทบุรี” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 บริเวณที่เป็นสวนบ้านแก้ว พระราชฐานส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินินาถในรัชกาลที่ 7 โดยพระองค์พระราชทานไห้กระทรวงศึกษาธิการ ตามที่กระทรวงได้ขอพระราชทานซื้อในราคา 18 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2516 วิทยาลัยครูจันทบุรีได้รับพระราชทานตราศักดิเดชน์ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นตราของวิทยาลัยและใช้ สีชมพู-เขียว เป็นสีของวิทยาลัย สีชมพู แสดงถึงความเมตตากรุณา สุภาพ อ่อนโยนและเป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและ สีเขียว แสดงถึงความเจริญงอกงามซึ่งเป็นสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7


ตรา “ศักดิเดชน์”

วิทยาลัยครูจันทบุรี เปิดสอนครั้งแรกในประกาศนียบัตรนียบัตรชั้นสูงใน พ.ศ. 2515 โดยใช้อาคารเรียนชั่วคราวบริเวณโรงเลี้ยงไก่ส่วนพระองค์เป็นห้องเรียน นักศึกษารุ่นแรกจึงเรียกกันติดปากว่า “รุ่นเล้าไก่”

ปี พ.ศ. 2518 ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการศึกษาตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2528 จึงเปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสาขาศิลปะศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับแก้ไข พ.ศ. 2527

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 วิทยาลัยครูจันทบุรีได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นนามของวิทยาลัยว่า “วิทยาลัยรำไพพรรณี”

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ได้พระราชทานคติธรรมประจำให้แก่วิทยาลัยรำไพพรรณี เป็นภาษาบาลีว่า “ปณฺฑิโต นิปุณํ สํวิเธติ” แปลว่า “บัณฑิตย่อมฉลาดจัดการ”

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อใหม่ไห้แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศตามที่กรมการฝึกหัดครูได้ขอพระราชทานคือ สถาบันราชภัฏ ต่อมากรมการฝึกหัดครูได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฏรแล้วและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 จึงมีผลทำให้วิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีมีฐานะเป็น สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 สถาบันได้เปิดสอนนักศึกษาภาคพิเศษตามโครงการการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลากรประจำการ (กศ.บป.) ที่ศูนย์สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี และต่อมาปี พ.ศ. 2537 จึงขยายศูนย์ให้การศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) นอกสถาบันที่ศูนย์จังหวัดระยอง โดยความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคระยองและโรงเรียนระยองวิทยาคม และต่อมาปี พ.ศ. 2540 มีผู้สมัครเข้าเรียนที่ศูนย์ระยองเพิ่มขึ้นจึงย้ายศูนย์ให้การศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคระยองมาเปิดศูนย์แห่งใหม่ที่โรงเรียนเทคโนโลยี ทีพีไอ จังหวัดระยอง

ปี พ.ศ. 2542 สถาบันราชภัฏรำไพพรรณีเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาครั้งแรกในภาคพิเศษ สาขาการบริหารการศึกษาใน พ.ศ. 2543 เปิดสอนสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา และ พ.ศ. 2544 เปิดสอนสาขาหลักสูตรการสอน

ปี พ.ศ. 2544 สถาบันได้ปรับเปลี่ยนโครงการจัดการศึกษาภาคพิเศษทั้งหมดเป็น โครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) ตามประกาศของคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ ดังนั้นภายใต้โครงการ กศ.ปช. จึงประกอบด้วยสามโครงการย่อยคือ โครงการ กศ.บป. โครงการ กศ.อช. และโครงการบัณฑิตศึกษา

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำให้สถาบันราชภัฏรำไพพรรณีเปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ตรา “พระราชลัญจกร”

ทำหน้าที่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดินฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูพลังของแผ่นดิน ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

1. คณะครุศาสตร์
2. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
4. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
5. คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมบัณฑิต
6. คณะวิทยาการจัดการ
7. สำนักงานอธิการบดี

นับตั้งแต่ได้เปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เมื่อปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ระดับคณะ ดังนี้

1. คณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550
2. บัณฑิตวิทยาลัย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552
3. คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552
4. คณะนิเทศศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552
5. สำนักบริการวิชาการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552
6. คณะอัญมณีศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553
7. คณะพยาบาลศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553


มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรใหม่และหลักสูตรปรับปรุง ระดับปริญญาตรี จำนวน 46 สาขาวิชา ดังนี้

1. หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) จำนวน 8 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา สาขาวิชาพลศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาสังคมศึกษา
2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการเงินธนาคาร สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
3. หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน สาชาวิชาสื่อสารบูรณาการ
4. หลักสูตรศิลปะศาสตร์ (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 7 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาจีน สาขาวิชาดนตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ สาขาวิชาการท่องเที่ยว
5. หลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ สาขาวิชาศิลปกรรม
6. หลักสูตรรัฐประศาสนศาตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชารับประศาสนศาสตร์
7. หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน สาขาวิชา ได้แก่ สาขารัฐศาสตร์
8. หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขานิติศาสตร์
9. หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาบัญชีบัณฑิต
10. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร
11. หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 14 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาภูมิสารสนเทศ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทำอาหาร สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาขาวิชาอัญมณีศาสตร์

คติธรรมประจำมหาวิทยาลัย

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ประทานคติธรรมประจำวิทยาลัยรำไพพรรณี สหวิทยาลัยศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 เป็นภาษาบาลีว่า “ ปณฺฑิโต นิปุณํ สํวิเธติ ” แปลว่า “ บัณฑิต ย่อมฉลาดจัดการ ”

สีประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

สีเขียว หมายถึง ความเจริญงอกงามและเป็นสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

สีชมพู หมายถึง ความเมตตากรุณา สุภาพอ่อนโยน นับเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้เป็นครูและเป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

รหัสสีชมพูได้แก่ A1 C0 M100 Y30 K0 รหัสสีเขียวได้แก่ B2 C90 M20 Y100 K0

พระราชลัญจกร

ประเภทของพระราชลัญจกร พระราชลัญจกร คือ ตราประจำชาติ ซึ่งใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญของพระมหากษัตริย์ และราชการแผ่นดิน จัดเป็นหมวดหมู่ได้ 3 ประเภท ดังนี้


พระราชลัญจกรประจำ พระองค์
พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน
พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์

หมายถึงพระตราที่ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่นในประกาศนียบัตรกำกับเหรียญรัตนาภรณ์ เป็นต้น พระราชลัญจกรประจำพระองค์แต่ละรัชกาลมีรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ กันไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1-4 เท่าที่มี หลักฐานปรากฎพบว่าในเงินพดด้วงมีรูปจักรดวงหนึ่ง และพระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1 เป็นรูปปทุมอุณาโลม รัชกาลที่ 2 เป็นรูปครุฑยุดนาค รัชกาลที่ 3 เป็นรูปปราสาท รัชกาลที่ 4 เป็นรูปพระมหามงกุฎ โดยที่รูปจักรจะไม่เปลี่ยนไปตามรัชกาลเนื่องจากเป็นพระราชสัญลักษณ์ สำหรับพระบรมราชวงศ์ซึ่งปกครองรัฐสีมามณฑลอยู่ นอกจากนั้นพบหลักฐานที่ปรากฎรูปพระราชสัญลักษณ์ ที่ใบปกคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในแต่ละรัชสมัยดังที่กล่าวมาแล้ว ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกระษาปณ์สิทธิการขึ้น เพื่อผลิตเงินเหรียญบาทแทนเงินพดด้วง ตราที่ใช้ในเงินเหรียญนั้น ด้านหนึ่งของเหรียญยังคงเป็นรูปจักร โดยเติมรูปช้างเผือกกลางรูปจักร อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระมหามงกุฎมีเครื่องสูงตั้งขนาบทั้งสองข้าง ต่อมาได้ทรงพระกรุณาให้สร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เพื่อประทับในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ที่ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตลอดมา เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็นอุหรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิตดังในรัชกาลก่อน
ที่มา : จากหนังสือพระราชลัญจกร

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัย เป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออก ในรอบเหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ และรอบนอกด้านบนมีตัวอักษรภาษาไทยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี” ด้านล่างมีอักษรภาษาอังกฤษว่า “RAMBHAI BARNI RAJABHAT UNIVERSITY” สีของสัญลักษณ์ประกอบด้วย 5 สี ดังนี้

น้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม “ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ”
สีเขียว แทนค่า แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในแหล่งธรรมชาติมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
สีส้ม แทนค่า ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นก้าวไกล
สีขาว แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ที่มาของรูปแบบตัวอักษรราชภัฏสัญลักษณ์์

แสดงถึงพระ ราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน ในประเด็นการปรับแผนการศึกษา ของชาติที่เด่นชัด โดยพัฒนาจากระบบ บ้าน วัด วัง และโรงเรียน โดยเฉพาะเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงใช้กระบวนการทางปัญญาแก้ปัญหาระบบการพัฒนาประเทศ ตัวอักษรจึงเป็นประเด็นสำคัญในการจัดวางรูปแบบ ดังนั้น ตัวอักษรไทยในราชภัฏสัญลักษณ์ จึงมีโครงสร้างในลักษณะใกล้เคียงระบบสากล คือใช้อักษรโรมันแบบ Gothic หรือตัวอักษรอังกฤษแบบ Old English และอักษรขอม เป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบตัวอักษร ให้สามารถแทนค่าความรู้สึกในการสื่อสารร่วมสมัย และแสดงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์

สถานที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรรณี ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ติดกับถนนจันทบุรี-สามแยกเขาไร่ยา (ถนนรักศักดิ์ชมูล) ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร อีกด้านหนึ่งติดถนนสุขุมวิท กิโลเมตรที่ 326 มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีเนื้อที่รวม 720 ไร่ 3 งาน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และมีเนื้อที่สถานีทดลองการเกษตรแก่งหางแมว กิ่งอำเภอแก่งหางแมว อีกประมาณ 370 ไร่

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย


ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ ดอก ชัยพฤกษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia javanica L.
ชื่อสามัญ : Javanese Cassia , Rainbow Shower
Best Viewed In
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 41 ม. 5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000
โทรศัพท์ : 039-319111 ต่อ 0,10164-6 , แฟกซ์ : 039-471069, อีเมลล์ : saraban@rbru.ac.th
ติดต่อ | เบอร์โทรศัพท์ | แผนที่รำไพฯ | แผนที่ตั้ง (Google Map) | สายตรงอธิการ | ติดต่อ IT-Support | หน่วยประชาสัมพันธ์
(รับเรื่องร้องเรียน ติดต่อนิติกรเพื่อดำเนินการ โทร. 039-319111 ต่อ 10117-8)
ipv6 rambhai